วันเสาร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557


การลดต้นทุนด้วยการได้ประโยชน์ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย (Cost reduction by WIN WIN)

 

 

จากการไปเป็นที่ปรึกษามาหลายบริษัท พบว่าบริษัทที่เป็นผู้ส่งมอบสินค้าให้บริษัทญี่ปุ่น มักจะต้องโดนบีบบังคับให้ลดต้นทุนเพื่อราคาสินค้าให้ลูกค้าชาวญี่ปุ่นเสมอ    อย่างไรก็ตามดิฉันได้พบเห็นเสมอว่าเมื่อมีวิกฤติเกิดขึ้น บริษัทญี่ปุ่นมักพยายามช่วยเหลือ เช่น ถามถึงคำสั่งซื้อที่น้อยลงมีผลกระทบต่อบริษัทมากหรือไม่ โดยแจ้งว่าจะพยายามหาออเดอร์ มาป้อนให้สามารถอยู่รอดผ่านวิกฤตเศรษฐกิจได้  หรือไม่ก็ส่งผู้เชี่ยวชาญมาแนะนำ  หรือนำแบบฟอร์มที่ดีมาให้ศึกษาและแนะนำให้ทำตาม  บางครั้งก็ให้มีการแลกเปลี่ยนระหว่างผู้ส่งมอบสินค้าด้วยกันเองโดยการให้แต่ละบริษัทแสดงวิธีการลดต้นทุนหรือวิธีการอื่นที่ทำสำเร็จแล้วให้บริษัทอื่นทราบเพื่อแลกเปลี่ยนวิธีการ  พร้อมมอบโล่รางวัล

นอกจากนี้ขอนำเรื่องราวที่พบเจอ เผื่อจะนำไปช่วยผ่อนคลายความเครียดที่จะต้องลดต้นทุนได้บ้าง เมื่อ ปี 2002 ดิฉันได้มีโอกาสไปญี่ปุ่นเพื่อดูโรงงานผลิตเบียร์ยี่ห้อดังของญี่ปุ่น แต่ก่อนไปโรงงาน ดิฉันได้ซื้อนมหนึ่งกล่องใหญ่ หลังจากทานไม่หมด ก็เปิดตู้เย็นพบเบียร์เต็มตู้เย็น จึงดึงกระป๋องเบียร์ออกสองกระป๋องเพื่อนำกล่องนมใส่แทน พบว่าหลังจากดึงกระป๋องเบียร์จะมีที่กั้นเด้งออกมาทำให้ใส่กล่องนมไม่ได้ ดิฉันจึงลงไปถามที่เคาร์นเตอร์ พนักงานแทนที่จะตอบคำถามกลับนำใบเสร็จค่าเบียร์ 2 กระป๋องมาให้แทน

หลังจากนั้นเมื่อไปถึงโรงงานเบียร์  ดิฉันได้เล่าให้เรื่องนี้ให้เจ้าหน้าที่บรรยายของบริษัทเบียร์ฟัง เขาอธิบายเหตุผลว่า เมื่อคุณดึงกระป๋องเบียร์ออกจากช่องแช่ในตู้เย็น อุณหภูมิกระป๋องเบียร์จะเปลี่ยนไป คุณควรทานเบียร์ที่ออกจากตู้เย็นทันทีเพื่อรักษารสชาด ถ้าคุณนำกระป๋องเบียร์กลับมาไว้ในตู้เย็นอีก ทำให้รสชาดเปลี่ยน เราจึงทำการป้องกันไว้เพื่อไม่ให้ลูกค้าอื่นได้ทานเบียร์ที่ไม่ได้ควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสม   อีกอย่างสวิสที่ตู้เย็นจะส่งสัญญาณไปที่โรงงาน และผู้ส่งมอบกระป๋อง เพื่อทำการผลิตกระป๋องทดแทน  ซึ่งข้อดีก็คือสามารถผลิตทดแทนได้ทันทีหลังจากทราบไม่กี่วินาที และโรงงานผลิตกระป๋องสามารถทราบออเดอร์ว่าต้องส่งกระป๋องเบียร์วันละกี่กระป๋อง  โดยไม่ต้องรอคำสั่งซื้อจากโรงงานเบียร์ เป็นการลดเวลาการสั่ง order  และบริษัทไม่ต้องมีสต็อกกระป๋องเบียร์

เมื่อกลับที่โรงแรมดิฉันได้กลับไปดูที่ตู้เย็นอีกครั้งพบว่ามีข้อความเตือน แต่ดิฉันไม่ได้สนใจอ่านในครั้งแรก

ดิฉันได้นำเรื่องราวนี้ไปเล่าให้กระทรวงหนึ่งฟัง  ซึ่งผู้บริหารได้นำไปประยุกต์ใช้ โดยปกติจะสั่งซื้อกระดาษ 3 เดือนครั้ง โดยใช้เดือนละ 30 รีม  มาเป็นสั่งซื้อปีละครั้งแล้วให้คนขายส่งกระดาษเดือนละครั้งตามแผนการส่ง ทำให้ลดการสต็อกกระดาษและลดเวลาในการจัดซื้อจากปีละ 4 ครั้ง เหลือครั้งเดียว และได้ส่วนลดมากเนื่องจากซื้อคราวละมากๆ พร้อมกันนี้ผู้ขายสินค้าได้ทราบแน่นอนว่าในปีนี้มีออเดอร์แน่นอนเท่าไรไม่ต้องเสียเวลาประมูลบ่อย วางแผนการผลิตได้แน่นอนด้วย

จากผลการนำไปใช้ เห็นได้ว่าเจ้าหน้าที่จัดซื้อกระทรวงแห่งนี้ สามารถลดงานได้ 4 เท่าเลย และยังลดสต็อกกระดาษได้อีก ส่วนผู้ขายได้ order แน่นอน วางแผนการผลิตง่ายขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น