หลากหลายรูปแบบของการสำรวจความพึงพอใจของลูกค้า
โดย กันยา
รุจิรานนทพงศ์
เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว
ดิฉันได้มีโอกาสสนทนากับผู้บริหารบริษัท SMEs แห่งหนึ่งที่เป็นลูกค้ามา
3-4 ปี
หลังจากที่บริษัทแห่งนี้ได้ทำระบบ ISO 90001 มาระยะหนึ่ง เขาได้ว่าจ้างบริษัทหนึ่งทำการสำรวจความพึงพอใจ
ให้เงินประมาณ 3-4 หมื่นบาทในการสำรวจความพึงพอใจ
ซึ่งก็ทำให้ได้มุมมองอีกมุมมองในด้านความพึงพอใจเทียบกับบริษัทคู่แข่งและความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้น
รวมทั้งข้อเสนอแนะที่บริษัทสำรวจมาและนำเสนออย่างมืออาชีพ ในราคาที่บริษัท SMEs ยอมรับได้ ทำให้ดิฉันนึกถึงเมื่อ 6-7 ปีก่อนที่ได้มีโอกาสไปดูงานที่ญี่ปุ่น
ที่สนามกอล์ฟของญี่ปุ่นเขามีการสำรวจความพึงพอใจอีกแบบ นั่นคือเขาให้แคดดี้ที่มีประมาณ 100 คน พกกระดาษสี 3 สี
สีแดง
สำหรับไว้จดบันทึกกรณีลูกค้าพูดหรือบ่นถึงความไม่สะดวกสบายในการเข้ามาใช้สนาม
สีเขียว
สำหรับกรณีที่ลูกค้าชื่นชม เมื่อใช้สนาม
สีเหลือง
กรณีลูกค้าต้องการอะไรแล้วไม่ได้ดั่งใจ
เมื่อถึงเวลาเลิกงาน
แคดดี้จะนำกระดาษสีเหล่านี้ใส่ในกล่องสีตามสีกระดาษที่จดบันทึก
ทุกเช้าผู้บริหารจะนำกระดาษสีเหล่ามาพิจารณา
โดยนำเรื่องราวที่จดในกระดาษสีแดงมาพิจารณาแก้ไขเป็นอันดับแรก ส่วนข้อความที่จดในกระดาษสีเขียว
ก็นำมาโฆษณาประชาสัมพันธ์ถึงบริการที่ลูกค้าพอใจ
ในกรณีกระดาษสีเหลืองอาจจะมีความหมายถึงคู่แข่งทำให้ลูกค้า แต่เรายังไม่มี หรือความต้องการลูกค้าเองที่อยากได้แต่เรายังไม่มีการให้บริการนั้น ก็ต้องนำมาพิจารณาอีกทีว่าจะนำมาเป็นแนวทางพัฒนาปรับปรุงการให้บริการสนามกอล์ฟนี้หรือไม่
อีกกรณีหนึ่งเป็นโรงแรมที่ญี่ปุ่น
เขาจำให้พนักงานทำความสะอาด จดบันทึกเศษขยะที่ทิ้งไว้ในถังขยะห้องพักว่าเป็นอะไรบ้าง
ซึ่งก็พบว่าขยะส่วนมากเป็นบรรจุบะหมี่สำเร็จรูปร้อน
หลังจากนั้นผู้บริหารได้สังเกตพบว่าแขกที่เข้าพัก มักกลับมาตอนดึกและหิว พบว่าห้องอาหารปิดแล้ว ทำให้ไม่มีอาหารให้บริการมีแต่ตู้บริการน้ำดื่ม
จึงต้องหิ้วบะหมี่สำเร็จรูปเข้ามาทานในห้อง
ผู้บริหารจึงได้จัดตู้บริการบะหมี่อัตโนมัติใว้บริการลูกค้าในช่วงดึก เพื่อไม่ให้ลูกค้าต้องออกไปหาซื้อบะหมี่นอกโรงแรมอีกต่อไป ซึ่งเป็นกรณีศึกษาที่ได้รับรางวัลจากประเทศญี่ปุ่น
จะพบว่าการสำรวจความพึงพอใจของลูกค้าที่ญี่ปุ่น
มักดำเนินการด้วยความระมัดระวัง ไม่ทำให้ลูกค้ารู้สึกลำบากใจและไม่เป็นการรบกวนลูกค้าอีกด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น